จั่วหัวมาแนวนี้อีกแล้วครับเป็นคำถามที่เหล่านักศึกษาก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นคนที่เรียนจบ ปวส.ช่างก่อสร้าง หรือ ปวส.โยธา มาคิดไม่ตกเมื่อจะต้องหาข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปเชื่อได้ว่าหลายๆคนที่มาจากสายอาชีพ ปวช-ปวสก็คงจะอยากทราบกันมากว่าจะเรียนหรือจะมีแนวทางการศึกษาต่อในระดับ ปริญญาตรีในทางสายโยธา สายก่อสร้าง การเลือกมหาวิทยาลัยที่จะเข้าเรียนที่ไหนดี ซึ่งตัวผมเองก็พยายามจะรวบรวมมาให้ที่นี่ครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาเข้าศึกษาต่อกันนะครับ
การพิจารณาเลือกเข้าเรียนต่อวิศวกรรมโยธา
เรียนจบ ปวส.โยธา หรือ ปวส.ก่อสร้าง สำหรับท่านที่เรียนจบมาแล้วอยากจะเรียนต่อนั้นก็มีปัจจัยหลายๆเหตุผลที่เราต้องพิจารณาเลือกเรียนเพราะหากเลือกไม่เหมาะสมก็จะเป็นภาระและเหน็ดเหนื่อยกับการเรียนของเราได้ ปัจจัยเรื่องเงิน เวลา สถานที่ หลักสูตรที่รองรับ กว. อันนี้ต้องลงตัว ดังนั้นการที่จะศึกษาต่อนั้นเป็นสิ่งที่ดี การวางแผนการเลือกเข้าเรียนต่อในสาขา วิศวกรรมโยธา หรือ Civil Engineering นั้นก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับตัวเรา
สถานที่เรียนใกล้ที่บ้านหรือที่ทำงาน
การเลือกเรียนต่อวิศวโยธา ควรเลือกมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่ใกล้บ้าน เนื่องจากหากเลือกไกลบ้านอาจจะมีค่าใช้จ่ายแฝง เช่นค่ารถ การเดินทางที่ไกล ความไม่สะดวกในการมาเรียน การเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง รถติด หรือหากไกลบ้านจะต้องเช่าหอพักอาจจะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและอื่นๆ ถ้าเลือกได้ให้ใกล้ที่พักอาศัย ก็จะสะดวกในการเรียนลดภาระของเราด้วย
ค่าเทอม/ค่าใช้จ่ายในการเรียนวิศวโยธา
สำหรับท่านที่เรียนจบ ปวส.โยธา หรือ ปวส.ก่อสร้าง ที่จะเรียนต่อปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมโยธานั้น เรื่องค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนเช่นกัน มหาวิทยาลัยที่เป็นเอกชนก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงส่วนมหาวิทยาลัยที่เป็นภาครัฐก็จะมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า มหาวิทยาลัยที่เป็นเอกชน การเลือกภาคการเรียนที่เป็นภาคปกติก็จะมีหน่วยกิตที่ถูกกว่า การเลือกเรียนภาคที่เป็นนอกเวลาราชการหรือภาคพิเศษ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคนที่จบ ปวส.โยธา หรือ ปวส.ก่อสร้างมาน่าจะทำงานกันเสียส่วนใหญ่ดังนั้นก็เลือกให้ดีกับการทำงานและเวลาที่จะไปศึกษาต่อ
วิศกรรมโยธาหลักสูตรต่อเนื่อง
จบปวส.ก่อสร้าง หรือ ปวส. โยธา ทางเลือกนั้นมีไม่มากเพราะต้องหาหลักสูตรที่เป็นต่อเนื่องหรือเป็นเทียบโอน ดังนั้นเวลาหาหลักสูตรวิศวกรรมโยธา ที่จะลงเรียนนั้นให้ใช้ keyword ในการค้นหาอาทิเช่น รับตรง ปวส. เรียนต่อวิศวโยธา เป็นต้นครับ โดยส่วนมากที่จะเห็นหลักสูตรที่เปิดสำหรับคนที่จบสายอาชีพ ปวส.ก่อสร้าง/ปวส.โยธา มาก็จะเป็น ราชมงคล หรือ พระจอม เป็นหลักเสียส่วนใหญ่ ทั้งนี้กรณีจะเรียนหลักสูตรวิศวกรรมโยธาก็ควรตรวจสอบหลักสูตรให้ดีก่อนว่า สภาวิศวกรรับรองหลักสูตรหรือไม่ ? โดยท่านสามารถตรวจสอบหลักสูตรที่รับรองโดยสภาวิศวกรได้ที่ การรับรองปริญญา – COE – สภาวิศวกร
มหาวิทยาลัยที่รับตรงสำหรับผู้จบ ปวส.โยธา/ก่อสร้าง เรียนต่อวิศวกรรมโยธา
มหาวิทยาลัยที่รับผู้เรียนจบ ปวส.ก่อสร้าง หรือ ปวส.โยธานั้นก็จะน้อยกว่าผู้ที่ใช้วุฒิ ม.ปลายสายสามัญหน่อยแต่ก็ยังมีมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้เด็กสายอาชีพได้เข้ามาเรียนกันนะครับ ผมเองก็นำมาเรียบเรียงให้คร่าวๆพอจะเป็นแนวทางให้สำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาต่อ อาจจะไม่ครบสมบูรณ์แต่ก็เลือกหลักๆที่พอจะคุ้นๆมาให้กันนะครับ
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
(ใครอยากจะ 8 เกียร์เก่าก็ลุยเลย)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (ราชมงคลคลอง 6)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
มหาวิทยาลัยศรีปทุม
มาถึงตรงนี้แล้วก็คงจะเป็นแนวทางสำหรับผู้จะเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปได้นะครับ ทั้งนี้นั้นอาจจะไม่ถูกใจทุกคนก็เหมือนดั่งคนทำกับข้าวให้ทานนั่นละครับ บางคนชอบเผ็ด บางคนชอบเปรี้ยว บางท่านก็ชอบเค็มแล้วแต่ลิ้นแล้วแต่อุปนิสัยใจคอ ความรักความชอบที่ไม่สามารถจะห้ามกันได้ ทั้งนี้เพียงเป็น Guide ตัวอย่างให้เลือกพิจารณากันนะครับจริงๆก็มีอีกหลายๆมหาวิทยาลัยอีกมากที่ไม่ได้ลงไว้ให้ ผู้อ่านก็ควรหมั่นศึกษาหาความรู้และวางแผนการเรียนอีกทีนะครับ ^^
แบ่งปันกัน เราอยู่กันไม่เกิน 100 ปีหรอกครับ
สุดท้ายก็ทิ้งไว้ที่โลก จะคงเหลือไว้แต่คุณงามความดีที่ให้ระลึกถึงกันครับ
Follow Us / Thanat Sirikitphattana
นายช่างโยธา ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน 3 ส่วนก่อสร้างและบูรณะ 2 สำนักการโยธา